“เทียร่า” หรือ “ณัฐฐาชล กมลวัฒนาวิทย์” ผู้เข้าแข่งขันชาวไทยเพียงหนึ่งเดียวของรายการ “The Apprentice: ONE Championship Edition” เวอร์ชันโหดหินที่สุดในประวัติศาสตร์ พร้อมด้วยตัวแทนจากทั่วทุกมุมโลกรวมทั้งสิ้น 16 คน ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญระดับโลกอย่าง #StopAsianHate หรือ “ยุติการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชีย” อันสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากทวีปนี้
โดยที่ก่อนหน้านี้ ร่วมขวบปีที่ผ่านมา วัน แชมเปียนชิพ เคยเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การเหยียดชาติพันธุ์ไปแล้ว ด้วยการนำนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ที่มีสัญชาติเป็นลูกครึ่งทั้งตะวันออกและตะวันตก เข้ามามีส่วนร่วมผ่านคลิปวิดีโอในแคมเปญที่มีชื่อว่า #WeAreONEAgainstRacism
จนถึงตอนนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงเผยแพร่รายการใหม่อย่าง The Apprentice: ONE Championship Edition ไปเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับที่วิกฤติโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่อย่างยาวนานต่อเนื่อง การเหยียดชาติพันธุ์โดยเฉพาะกับชาวเอเชียก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทั่วโลกต่างเล็งเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดการบานปลาย ปะทุขึ้นไปทั่วทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราต่างมีศัตรูตัวเดียวกัน ซึ่งก็คือเชื้อไวรัส แต่หลายคนกลับโฟกัสผิดจุด
เทียร่า ในฐานะตัวแทนของรายการ และบทบาทเหยี่ยวข่าวสาววัย 27 ปี ในชีวิตจริง เธอเป็นหนึ่งคนที่ทนไม่ได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยที่ชาวเอเชียต้องกลายเป็นผู้ถูกกระทำ ต้องตกเป็นเหยื่อ หรือแพะรับบาปของสังคม
“จริงๆ เรารู้ว่าปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ และการเหยียดเอเชีย นั้นมีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วในบ้านเมืองฝั่งตะวันตก เพราะว่าตอนวัยรุ่น เราก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา ช่วงแรกที่ไปอยู่ที่นั่น ภาษาอังกฤษเรายังไม่แข็งแรง เราจึงถูกล้อเลียนดูถูกอยู่บ่อยครั้ง ช่วงแรกๆ ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย บางทีพวกเขาก็นินทาหรือแซวต่อหน้าเราแรงๆ ก็มี ยังดีที่เคสของเราไม่ได้มีความรุนแรงถึงขั้นโดนทำร้ายร่างกายค่ะ”
“ที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งคือ สื่อหรือมีเดียใหญ่ๆ จวบจนทุกวันนี้ กลับยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนเอเชียสักเท่าไหร่ หลายๆ ครั้งที่ภาพลักษณ์ถูกนำเสนอแต่ในแง่ลบ จนกลายเป็นภาพจำที่ไปหล่อหลอมอคติจนหยั่งรากลึกอยู่ในใจของผู้คนในพื้นที่อีกด้วยค่ะ”
“จนถึงตอนนี้ เมื่อบวกเข้ากับปัญหาโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง มันเหมือนกลายเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นต่อมเหยียดเชื้อชาติของชาวตะวันตก จนพวกเขายิ่งแสดงการกระทำด้านลบต่อคนเอเชียหนักข้อมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้ มีรายงานจากองค์กรทางสังคมที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของคนเอเชียว่าในช่วงเวลาแค่หนึ่งปีเศษที่ผ่านมา มีคนเอเชียเข้าร้องเรียนและแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงเกือบ 4,000 ราย ซึ่งนี่มันไม่ใช่น้อยๆ เลยนะคะ”
“และที่เรารับไม่ได้แบบสุดๆ คือเรื่องราวของผู้สูงอายุชาวไทยรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐใหญ่ของอเมริกา เขาถูกคนพื้นที่ผลักล้มจนศีรษะกระแทกพื้นเสียชีวิต เราเสียใจกับเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นมากๆ ค่ะ”
เทียร่า มองว่า ตอนนี้มันถึงเวลาแล้ว ที่สื่อทั่วโลกจำเป็นต้องตระหนักรู้ และให้ข่าวสารข้อมูลความเป็นจริงที่ถูกต้องของคนเอเชียอย่างจริงจังและเข้าใจ ให้โอกาสคนเอเชียได้ออกเสียงที่ถูกปิดกั้นมาอย่างยาวนาน ให้พวกเขาได้เล่าเรื่องราวของตนเอง ร่วมกันแชร์ประสบการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
“สำหรับตัวเราเอง มองว่า The Apprentice ในแบบฉบับของ วันฯ มันคือสังคมจำลองขนาดย่อม ที่มีคนจากหลายชาติพันธุ์ทั่วโลกมารวมตัวกัน เพื่อร่วมมือกันฟันฝ่าภารกิจและอุปสรรคต่างๆ ในรายการให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยกัน รายการนี้จะทำให้ทุกคนได้เห็นผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเอเชีย รวมถึงตัวเราเองด้วย ในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากกรอบเดิมๆ ที่สังคมเคยตีตราหรือกำหนดเอาไว้ค่ะ”
“คนเอเชียไม่ใช่เด็กเนิร์ด และไม่จำเป็นต้องขี้อายเสมอไป โดยเฉพาะภาพจำของผู้หญิงเอเชียที่เป็นได้แค่วัตถุทางเพศ เราต้องยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ทุกๆ คน มีความเก่งในแบบของตัวเอง รายการนี้จะทำให้ผู้ชมทั่วโลกได้รู้จักชาวเอเชียมากขึ้นด้วย”
“แม้แต่เพื่อนเอเชียคนอื่นๆ ที่ร่วมแข่งขันด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ยูจีน ชุง ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกา สมัยวัยรุ่นเขาก็เคยถูกล้อเลียนอยู่บ่อยครั้ง แม่ของเขาเปิดร้านขายของอยู่ที่อเมริกา ทั้งเคยโดนปล้นและถูกยิง อีกคนหนึ่งที่หนักไม่แพ้กันคือ เคซิน เย ลูกครึ่งจีน-เยอรมัน รายนี้อาศัยอยู่ที่เยอรมัน ในช่วงที่ไวรัสซาร์สระบาดหนัก เพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่มีใครกล้าสุงสิงกับเขา ไม่แม้แต่จะสัมผัสตัว ถ้ามีเหตุให้ต้องใกล้ชิด ก็จะใช้ผ้าหรืออะไรมาคลุมทับอีกทีด้วยความรังเกียจ ซึ่งเหล่านี้ยังคงเป็นส่วนน้อยที่เกิดขึ้นนะคะ ในความเป็นจริงของสังคมตะวันตก ยังมีความโหดร้ายทารุณอีกมากมายที่ชาวเอเชียต้องตกเป็นจำเลยค่ะ”