“ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9” หนึ่งในนักมวยหนุ่มแถวหน้าของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของค่ายมวยเล็กระดับตำนานแห่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่อยู่เบื้องหลังนักมวยดังมากมายหลายคนบนแผ่นดินสยาม

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน ซุปเปอร์เล็ก หรือ เป๊บซี่ เด็กหนุ่มซึ่งเกิดในย่านชนบทของอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เขาพลัดพรากกับพ่อตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ได้ 3 เดือน ด้วยความจน แม่จำต้องปล่อยให้เขาอยู่กับตายาย และเข้าไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพฯ ตามลำพัง นานๆ ถึงจะกลับมาเยี่ยมบ้านสักที

เขายังจำได้ดีว่าสมัยเด็กๆ เขามีความน้อยเนื้อต่ำใจ อยากกินขนม อยากมีของเล่นเหมือนอย่างเพื่อนๆ ยายตอบเขาเสมอว่า ยายไม่มีเงิน ซึ่งคำนี้มันดังก้องอยู่ในหูมาตลอด

ห่างจากบ้านของตายายไปไม่ไกล มีค่ายมวยเล็กๆ นามว่า “เกียรติหมู่ 9” ซึ่งเป็นสถานที่ปลุกปั้นนักมวยวัยรุ่นชื่อดัง ซึ่งชาวบ้านรู้จักดีอย่าง “สิงห์ร้ายแดนแขมร์” สิงห์ดำ เกียรติหมู่ 9 ในวัย 17-18 ปีขณะนั้น ที่เพิ่งได้รับรางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยมสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ปี 2545 หรือที่คนวงการมวยเรียกสั้นๆ ว่า “ยอดมวย” ถือเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่แห่งวงการ

มีการจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างคึกคักในอำเภอประโคนชัย เป๊บซี่ ในวัย 6 ขวบ ยังจำบรรยากาศแห่งความชื่นชมยินดีที่ชาวบ้านมีแก่ฮีโร่นักมวยไทยได้แม่นยำ ซึ่งมันหวนกลับมาอีกครั้งเมื่อ สิงห์ดำ คว้ารางวัลนักมวยไทยดีเด่นการกีฬาแห่งประเทศไทยปีต่อมา

ด้วยความยากจนของครอบครัว บวกกับได้เห็นความสำเร็จจากฮีโร่ประจำหมู่บ้าน ตาของ เป๊บซี่ จึงตัดสินใจพาหลานไปฝากที่ค่ายมวยเกียรติหมู่ 9 เพื่อหวังให้เขาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เป๊บซี่ ในวัย 8 ขวบจึงเริ่มต้นเส้นทางนักสู้ ด้วยการฝึกซ้อมมวยไทยในค่ายเดียวกับ สิงห์ดำ นับแต่นั้น

แม้ค่ายเกียรติหมู่ 9 จะเป็นค่ายมวยเล็กๆ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือจำกัดจำเขี่ย แต่ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมานานในฐานะค่ายมวยคุณภาพ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น “ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9” ก็กระโดดขึ้นหลังรถกระบะของค่าย และเดินสายแข่งขันตามงานวัดทั่วอีสาน

“ครั้งแรกผมรู้สึกตื่นเต้นมากครับ ผมไม่เคยเจอคนเยอะๆ แบบนี้มาก่อน ตอนชกผมว่ามันสนุก จำได้ว่าได้ค่าตัวมา 150 บาท ผมเอาไปซื้อขนม และที่เหลือก็ให้ตา”

เมื่อสั่งสมกระดูกมวยและสร้างชื่อเสียงในแถบภูธรได้พอสมควร ก็ถึงเวลาที่เขาจะก้าวขึ้นเวทีเกียรติยศในเมืองหลวง เหมือนอย่างที่นักมวยไทยทุกคนใฝ่ฝัน “ผมเห็นนักมวยรุ่นพี่ที่ค่ายเขาขึ้นชกเวทีใหญ่ๆ ผมก็กลับมาคิดว่า ทำยังไงผมถึงจะได้ค่าตัวเยอะๆ เหมือนพวกเขาบ้าง”

ดั่งโบราณว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล เมื่ออยู่ท่ามกลางนักมวยเก่งๆ ในค่าย ซุปเปอร์เล็ก ก็ได้ความรู้และเทคนิคต่างๆ มาด้วย แต่น่าเสียดายเมื่อเขาได้โอกาสเปิดตัวครั้งแรกที่ สนามมวยเวทีลุมพินี อันเลื่องชื่อ ผลการแข่งขันกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง

“ผมแพ้ตั้งแต่ไฟต์แรก และก็แพ้อีก 3 ไฟต์ติดกัน ผมยอมรับว่าผมท้อ ผมตั้งใจฝึกหนักมาตลอด แต่มาแพ้ 4 ไฟต์รวด ซึ่งผมไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน”

เหตุการณ์ผ่านไป ซุปเปอร์เล็ก เริ่มเข้าใจและเห็นปัญหา การชกในเวทีใหญ่ระดับประเทศที่มีผู้คนนับพันนั่งชมและเชียร์ เด็กหนุ่มจากบุรีรัมย์ที่เคยผ่านแต่เวทีเล็กๆ ตามงานวัดแถบภูธร ต้องมาเจอแสง สี เสียง มันย่อมเกิดความประหม่าที่ยากจะควบคุม ทางค่ายจึงตัดสินใจให้เขากลับไปชกต่างจังหวัดเหมือนเดิม จนกระทั่งเขากลับมาอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มอีกครั้ง

การกลับมาของ ซุปเปอร์เล็ก คราวนี้สร้างความสำเร็จชนิดก้าวกระโดด นอกจากค่าตัวที่ไต่ขึ้นมาจนถึงหลักแสนในปัจจุบัน เขายังครองเข็มขัดแชมป์ประเทศไทย และสนามมวยเวทีลุมพินี

ที่สำคัญคือการได้รางวัล “นักมวยดีเด่นการกีฬาแห่งประเทศไทย” ปี 2555 หรือที่คนวงการมวยเรียกกันติดปากว่า “นักมวยถ้วยพระราชทานฯ” ตามรอยฮีโร่รุ่นพี่ร่วมค่าย เมื่อวัย 16 ปี มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้า แฟนหมัดมวยทั่วประเทศไม่มีใครไม่รู้จัก

ปัจจุบัน ซุปเปอร์เล็ก พกประสบการณ์กว่า 150 ไฟต์ และความสำเร็จมากมาย เป็นใบเบิกทางสู่รายการ วัน แชมเปียนชิพ และขึ้นสังเวียนระดับโลก

เขามีเป้าหมายที่จะเดินหน้าต่อไป เพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของสังเวียนแห่งนี้ และสร้างชื่อเสียงให้กับค่ายมวยที่ปลุกปั้นเขามาตั้งแต่เริ่มต้นอย่าง “เกียรติหมู่ 9” นั่นเอง